พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล (อดีต รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ คุณภคมน พิมลศรี ร่วมเป็นประธานทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดไก่เตี้ย ตลิ่งชัน
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2567 ณ วัดไก่เตี้ย เลขที่ 11 ซอยบรมราชชนนี 33 ถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล (อดีตรอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ คุณภคมน พิมลศรี ร่วมเป็นประธาน (ฝ่ายฆราวาส) ทอดผ้าป่าสามัคคี โดยมี กลุ่มเพื่อนข้าราชการตำรวจร่วมรุ่น 41, กลุ่มเรารักกัน, คุณพิพัฒน์ กนกนิตย์อนันต์ และพุทธศาสนิกชนที่ร่วมบุญฯ เข้าร่วมในการประกอบพิธีฯ
บรรยากาศภายในพิธีวันนี้ เริ่มจาก เวลา 10:00 น.ประธานในพิธี เข้าสู่อุโบสถ์ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายความเคารพที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นกลับเข้านั่งที่ เจ้าหน้าที่กล่าวคำอาราธนาศีล พระปริยัตวัชราทร (เจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย) ประธานฝ่ายสงฆ์ให้ศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ชัยมงคลคาถา ประธานในพิธี จุดเทียนทำน้ำพระพุทธมนต์ พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์เสร็จ เจ้าหน้าที่นำกล่าวคำถวายผ้าป่า พระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาส กระทำการพิจารณาต้นผ้า เสร็จแล้วกลับสู่อาสนะสงฆ์ จากนั้นถวายเครื่องไทยธรรม และพระสงฆ์ได้อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี บนอุโบสถ์ จากนั้นประธานขึ้นกุฏิท่านเจ้าอาวาส เข้าถวายภัตตาหารเพลที่ห้องฉัน จากนั้นแขกเข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวัน พร้อมรับวัตถุมงคล (ลูกอมกฐินนำโชค) พร้อมกับพระเครื่องบูชา กับทาง พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.ณ ห้องประชุม เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในวันนี้
ปัจจัยจากศรัทธาของผ้าป่าในวันนี้ รวมตัวเลขยอดเงินผ้าป่าได้ 3,009,999.19 บาท (สามล้านเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าบาทสิบเก้าสตางค์) ซึ่งทาง พระปริยัตวัชราทร (เจ้าอาวาส) จะได้นำปัจจัยไปบูรณปฏิสังขรณ์วัด เป็นลำดับต่อไป
กล่าวถึงประวัติของทางวัดไก่เตี้ยแห่งนี้ จากข้อมูลที่ทางวัดได้สืบค้นมาพอสังเขป วัดไก่เตี้ย มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตลิ่งชัน ติดกับคลองบางกอกน้อย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย และสันสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นปลายสมัยกรุงธนบุรี ราวปี พ.ศ.2320 ต่อมา ได้รับการบูรณะใหม่โดยขุนนางชั้นสูง ดังปรากฎในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 1 จ.ศ.1144 (พ.ศ.2325) ที่มีข้อมูลระบุกำกับถึงวัดไก่เตี้ย และระบุนาม เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) ว่าที่สมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมา เดิมทีมีชื่อว่า วัดมหาอมาตยาราม แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไก่เตี้ย โดยหาหลักฐานไม่ได้ด้วยเหตุว่าเปลี่ยนใน พ.ศ.ใด ภายในวัดมีเสนาสนะต่างๆ ได้แก่
☆ อุโบสถ สร้างปี พ.ศ.2512 แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม อุโบสถเป็นลักษณะอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องซ้อน 2 ชั้น 3 ตับ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีระเบียงด้านหน้าและหลัง เครื่องบนส่วนหน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันจำหลักลวดลายกระหนก ด้านบนประดับซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ข้างล่างลงมาเป็นสัญลักษณ์รูปไก่ รอบอุโบสถมีบันไดขึ้นตรงระเบียงหน้าข้างละ 2 บันได และมีระเบียงเดินรอบ ภายในประดิษฐานพระประธานสมัยสุโขทัย พระพุทธสัมฤทธิ์ประสิทธิโชค และมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่คู่วัดมาแต่โบราญ
☆ เจดีย์พระระฆัง ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ อยู่ภายในกำแพงแก้ว เป็นทรงระฆังโดยมีเจดีย์เล็กๆ รูปทรงคล้ายน้ำเต้าตั้งอยู่ทั้งสี่มุมด้าน เจดีย์องค์ประธาน ตรงกลางซึ่งเป็นเจดีย์องค์ระฆังนี้ ตั้งอยู่บนฐานเขียงถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัว มีมาลัยเถา 3 ชั้น รองรับองค์ระฆัง เหนือองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ เสาหานและปล้องไฉน ขนาดองค์เจดีย์มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 6.5 เมตรโดยประมาณ
☆ พระฉาย ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์หลังอุโบสถ เป็นลักษณะแผ่นปูนปั้นขนาดใหญ่ คล้ายทรงกลีบบัว ประดับลวดลายดอกไม้ใบไม้ ตรงกลางภายในทำเป็นรูปพระพุทธเจ้า ปางอุ้มบาตร ประทับยืนบนดอกบัว มีพระสาวกขนาบอยู่ช้ายขวา สร้างราวปี พ.ศ.2493 ในสมัยพระอธิการ นวล จนฺทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย
☆ วิหาร ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ขนาดกว้าง 14.13 X 7.24 เมตร โดยประมาณ หลังคามุงกระเบื้องซ้อน 2 ชั้น 3 ตับ ผนังปิดทึบรอบด้าน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2320 บริเวณด้านหน้าด้านหลัง มีมุขยื่นออกมา มีเสาสองกันรองรับ ประดับด้วยสายหร่ายร่วงผึ้งไม้แกะสลัก เครื่องบนหลังคามีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นไม้แกะรูปนารายณ์ ท่ามกลางลายพฤกษา มีประตูเข้าสองทาง ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประธาน ประดิษฐานประทับนั่งอยู่
☆ ศาลาหลวงพ่อโต ตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถใกล้กับวิหาร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ภายในมีพระพุทธรูปเนื้อทองเหลืองปางสมาธิประทับนั่งอยู่ ซึ่งชาวบ้านเรียกชื่อว่า “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นพระพุทธรูปที่ให้โชคลาภ
☆ หอไตร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาดอาคาร 3.2 x 5 เมตร โดยประมาณ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้หน้าบันประดับด้วยกระจกสีลวดลายพันธ์พฤกษา ช่องประตูหน้าต่างประดับด้วยลวดลายพันธ์พฤกษา ที่ชายคาเขียนรูปค้างคาวห้อยหัว ผีเสื้อและลายดอกโบตั๋น เป็นศิลปะแบบจีนนิยมใช้ในสมัยรัชการที่ 3 อย่างชัดเจน ด้านในและด้านนอกปิดทองทึบ
☆ ศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นศาลาไทย ยกพื้นสูง หลังคาประดับด้วยหน้าบัน ตกแต่ง
ด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ขนาดกว้าง 22.86 X 10.36 เมตรโดยประมาณ มีบันไดทางขึ้นได้สองทาง ด้านหน้ามีหน้าต่างรอบด้าน ภายในพื้นที่โล่งมีเสาร่วมใน 2 แถว สุดโถงด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งของแท่นธรรมาสน์
☆ หอระฆัง ซึ่งอยู่ติดกับศาลาการเปรียญด้านหน้าวัด มีลักษณะเป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน ขนาด 5.64 x 4.45 เมตร โดยประมาณ ชั้นล่างเป็นห้องโถงมีทางเข้าด้านหน้าเจาะเป็นช่องรูโค้งคล้ายกลีบบัว ตรงกลางโถงเป็นที่ตั้งของแท่นประดิษฐานรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรงสี) มีบันไดขึ้นด้านหน้า ชั้นบนมีทางเดินเล็กๆ พนักระเบียงกั้นโดยรอบ
☆ ศาลาท่าน้ำ ลักษณะเป็นศาลาโถง คอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในมีพื้นที่นั่งสองฟาก ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดติดกับชายคลอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2500
ตามประวัติวัดไก่เตี้ยในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 ระบุว่า ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อราวปี พ.ศ.2320 จากนั้นทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่า ในราวปี พ.ศ.2511 พร้อมกับได้ผูกพัทธสีมา ในกาลนั้น วันที่ 3 มีนาคม 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช เสด็จพระราชดำเนินตัดลูกนิมิตอุโบสถ
☆ เจ้าอาวาสที่ได้มาครองวัดไก่เตี้ย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 12 รูป เท่าที่สืบความได้
ถึง โดยเริ่มแต่ในสมัยรัชการที่ 5 ดังที่ได้เรียบเรียงตามลำดับ
1. หลวงพ่อนนท์
2. หลวงพ่อส่าน
3. หลวงพ่อสาท
4. หลวงพ่อขาว
5. หลวงพ่อยิ้ม
6. หลวงพ่อเทียน
7. หลวงพ่อรุณ
8. หลวงพ่อลักษณ์
9. หลวงพ่อนวล จนฺทสโร
10. พระครูปราสาทปัญญาภรณ์
11. พระครูปลัด ชาญชัย ชยธมฺโม
12. พระปริยัตวัชราทร (เจ้าอาวาสปัจจุบัน)
วัดไก่เตี้ยยังเป็นสถานที่พักพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้แห่ตามประเพณีกันมาช้านาน แห่มาตามลำคลอง จากวัดนางชีมาขึ้นที่วัดไก่เตี้ย เรียกว่างานประเพณีชักพระ ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งได้ปฏิบัติทำกันมายาวนาน ไม่มีบันทึกไว้ว่าเริ่มมาแต่สมัยไหน เป็นการจัดร่วมกันกับวัดไก่เตี้ย และวัดไก่เตี้ยยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเผาร่างสัตว์ทรงเลี้ยง ของในหลวงรัชการที่ 9 รัชกาลที่ ๑๐ และของพระบรมวงศานุวงศ์เสมอมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณ
พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี
ผู้ช่วย ผบ.ตร.
สนับสนุนข้อมูลข่าวสาร