ผบช.ตร.ภ. 5 ออกมาตรการเข้มเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันหยุดราชการกรณีพิเศษระหว่างวันที่ 19-22
พ.ย.63
ตำรวจภูธรภาค 5 โดย พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และ พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จึงได้กำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกการจราจรป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนในช่วงวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ระหว่าง วันที่ 19-22 พ.ย.2563โดยให้หน่วยในสังกัดดำเนินการ ดังนี้
เป้าหมายและแนวทางการดำเนินการ
– สามารถลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ให้มีจำนวนน้อยที่สุด
– ให้ตำรวจภูธรจังหวัดและสถานีตำรวจ ในสังกัดร่วมกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน
– ประสานการปฏิบัติด้านภารกิจ อัตรากำลังพลให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น สถานที่ตั้งและการจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ จุดสกัด จุดบริการประชาชนหรือสายตรวจเคลื่อนที่ โดยกำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อสามารถติดตามประเมินผลได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง
– การระดมอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจจับความเร็ว และอุปกรณ์ประจำจุดตรวจ มีการติดตั้งป้ายเครื่องหมายจราจร ไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน ให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนก่อนถึงจุดตรวจ
การรณรงค์ประชาสัมพันธ์
– การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกและตระหนักถึงความมีวินัยจราจร และความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนมาตรการแนวทางดำเนินงานและข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการเดินทาง ผ่านสถานีเครือข่ายวิทยุชุมชน เสียงตามสายประจำหมู่บ้าน ช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
– การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลักกับผู้ขับขี่และผู้โดยสารโดยเฉพาะกรณีที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนโดยให้ดำเนินการก่อนช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เพื่อสร้างความตระหนักตื่นตัวเกี่ยวกับอุบัติเหตุให้กับชุมชนซึ่งจะส่งผลให้เกิดกระแสความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและสร้างความตื่นตัวให้กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ขับขี่จนสามารถ ลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ในที่สุด
มาตรการบังคับใช้กฎหมาย
– จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดบริการร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรเท่าที่จำเป็นโดยเน้นให้จัดกำลังส่วนใหญ่ในการตั้งด่านตรวจจุดตรวจเคลื่อนที่ ตามจุดเสี่ยงอุบัติเหตุและช่วงเวลาที่วิเคราะห์ได้จากสถิติอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติที่เหมาะสม
– ให้พิจารณาสถานที่ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดให้เหมาะสม เช่น ไม่ตั้ง จุดตรวจใกล้ทางร่วมทางแยกเชิงสะพานในที่มืดแสงไฟน้อยหรือบริเวณถนนที่มีรถมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติ สำหรับช่วงเวลากลางคืนที่ผู้ขับขี่มักเร่งรีบใช้ความเร็วสูง ขอให้ติดตั้งสัญญาณไฟวับวาบเพื่อเตือนหรือป้องปรามไม่ให้ใช้ความเร็วสูง
– จัดให้มีชุดสายตรวจเคลื่อนที่เร็วทำงานแบบการสุ่มตรวจ (Random) มุ่งเน้นการตรวจสอบความเมาของผู้ขับขี่เพื่อป้องปรามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาทและฝ่าฝืนกฎจราจร พร้อมทั้งออกสำรวจตรวจสอบจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ ขณะมึนเมา นอกจากนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนสอดส่องควบคุมไม่ให้ใช้ความเร็วสูง รถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีหลังคาที่มั่นคงแข็งแรง มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเสียชีวิต จากอุบัติเหตุสูงและมีจำนวนมากในคราวเดียวกัน
– ให้ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์หรือจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบเคลื่อนที่ ในพื้นที่ซึ่งมีผู้เมาสุราจำนวนมากเพื่อกวดขันจับกุมกรณีเมาสุราแล้วขับอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยให้ตรวจแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ที่ขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุทุกราย หากพบว่าเมาสุราเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
– ให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจจุดสกัด เรียกตรวจและจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากตอนท้ายไม่มีหลังคาที่มั่นคงแข็งแรงซึ่งอาจเกิดอันตรายแก่ผู้โดยสารหรือประชาชนหรือดัดแปลงให้มีที่นั่งซ้อนกันหลายชั้นและใช้ความเร็วสูงเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ รวมทั้งรถโดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กรณี รถโดยสารรถประจำทาง รถตู้ รถรับจ้างทัศนาจร ให้เจ้าหน้าที่เรียกตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ซึ่งต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกินที่กำหนด
– ให้บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551และพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493อย่างเข้มงวด โดยห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการ พื้นที่ชุมชน รวมทั้งไม่ให้ขายเครื่องดื่มให้กับคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่บนรถทุกประเภท
– ดำเนินการมาตรการเชิงรุกกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดเหตุโดยแยกผู้ขับขี่ออกจากรถจักรยานยนต์ในรูปแบบของการรับฝากรถกล่าวคือเมื่อตรวจพบว่าผู้ขับขี่ดื่มสุราแต่ยังไม่เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับขี่ซ้อน 3 หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ตลอดจนให้ใช้มาตรการเชิงสมัครใจให้ผู้ขับขี่ฝากรถจักรยานยนต์ไว้กับเจ้าหน้าที่แล้วให้มารับภายหลัง สำหรับผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมาสุราให้กักตัวไว้ก่อนจนกว่าจะหายจากอาการเมาสุราหรือให้ผู้อื่นที่ไม่เมาสุรามารับกลับไป
คุณ มนู พุทธิมูล
หัวหน้าข่าว ภ.5 นิตยสารตำรวจเพื่อมวลชน รายงาน