ศอ.บต. ร่วมกับ สสว. ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่ กว่า 100 คน พัฒนาทักษะการค้าดิจิทัล พร้อมยกระดับสินค้าพื้นถิ่นสู่สินค้าระดับพรีเมี่ยม
ที่ โรงแรมริเวอร์ ลีฟวิ่งเพลซ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนสวนอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าฮาลาล (e-Industrial Park : Halal Foods & Product Innovation) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ต่อจากผู้ช่วย เพิ่มผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร 3 จชต. พร้อมด้วยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SME) กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เข้าร่วมกว่า 100 คน
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ อาทิ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้มีช่องทาง มีโอกาสที่ดี โดยทางศอ.บต.ได้มีการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชั้น 4 เนื่องจากสวนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นั้นสามารถครอบคลุมทั้งหมดในภาคเศรษฐกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการ ธุรกิจ SME ให้มีการผลิต การแปรรูปสินค้า โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด มีเครื่องไม้เครื่องมือจากส่วนราชการ หรือวิสาหกิจมาสนับสนุนเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด และนำเสนอรูปแบบของสินค้าให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกได้ ดังนั้นเป้าหมายหลักของศอ.บต. คือเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากหรือวิสาหกิจชุมชนทั้งกลุ่มการผลิตลูกหยี กล้วยเส้น การผลิตเครื่องแกง น้ำบูดู น้ำปลาร้าปรุงรส ซึ่งเป็นหนทางที่จำเป็นและสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นชาวบ้านในพื้นที่มีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้า หากในพื้นที่เกิดการพัฒนา เกิดการผลิตที่มีคุณภาพ มีการกระจายรายได้ที่เหมาะสม จะทำให้มีโอกาส มีอาชีพ มีรายได้ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือเป้าหมายหลักที่จะลดความเหลื่อมล่ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดีที่สุดต่อไป
นางสาวปาลิตา ลิมป์ไตรรัตน์ ผู้ประกอบการน้ำบูดู – น้ำปลาร้าปรุงรส เผยถึงจุดเริ่มต้นในการผลิตสินค้าว่า เดิมทางครอบครัวได้เปิดร้านขายส้มตำมาก่อน ก็เลยมีความคิดที่จะสร้างแบรนเป็นของตัวเอง โดยคิดสูตรน้ำปลาร้า และน้ำบูดูของตัวเอง เพื่อจำหน่าย เริ่มขายแบบง่ายๆ ก่อน มาทำแบรนด์สินค้าของครอบครัว โดยทุกสินค้าทั้งหมดจะผ่านการต้มสุก ตามหลักอนามัย สามารถเก็บได้ถึง 2 ปี เนื่องจากไม่มีสารกันบูด ถูกหลักอนามัย โดยมีจุดเด่นสินค้าคือ หมักเอง ทำเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยมีการรับซื้อวัตถุดิบ เช่น ปลา มาจากชาวประมงในพื้นที่ กว่า 50 เปอร์เซน และอีก 50 เปอร์เซน มาจากนอกพื้นที่ เพราะมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่วนการจ้างงาน ก็มองว่าอนาคตจะมีการจ้างงานให้กับในพื้นที่มากขึ้น ถ้าธุรกิจไปได้ดี สำหรับในวันนี้ต้องขอบคุณ ศอ.บต. ที่ได้จัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการตลาด ให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้มีการจัดตั้งสำนักงานสวนอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Industrial Park) ภายใต้ชื่อ “สวนอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าฮาลาล” เพื่อเป็นศูนย์กลาง การแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ศูนย์ฝึกอบรมผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่จชต. พัฒนาอุตสาหกรรม ในจชต. ให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และมีจุดแข็งด้านการตลาด นำการผลิตผ่าน E-Platform ซึ่งสามารถพยากรณ์ข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค ได้แม่นยำประมาณร้อยละ 80 (Predictive data) มีการนำจุดเด่นเรื่องความสามารถ ในการผลิตร่วมกับความต้องการจากผู้บริโภคเชื่อมโยงกัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นระบบ โดยจะเป็นต้นแบบในการทำ E-Park พื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้ทราบถึงภารกิจของสวนอุตสาหกรรมนวัตกรรม และเทคโนโลยี สินค้าฮาลาล (e-Industrial Park : Halal Foods & Product Innovation) และพัฒนาทักษะการค้าดิจิทัล เป็นการยกระดับสินค้าพื้นถิ่น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าในยุคดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกิจกรรมขับเคลื่อนสวนอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าฮาลาล (e-Industrial Park : Halal Foods & Product Innovation) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563 ซึ่งภายในกิจกรรมครั้งนี้มีการให้ความรู้ถึงแนวทางของ SME ในการปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน การพัฒนาสินค้าพื้นถิ่นเพื่อเข้าสู่สวนอุตสาหกรรม และการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “Digital Trade Platform” ต่อไป
คุณ ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ ผอ.ภ.9 นิตยสารตำรวจเพื่อมวลชน รายงาน